วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

OLOS in KORAT ... ไหว้พระ 9 วัด ในเมืองโคราช ... ขอพรรับปีใหม่ 2559

สวัสดีวันสุดท้ายของปี 2558 ครับ อมยิ้ม01

อีกไม่กี่ชั่วโมง ก็จะเข้าสู่ปีใหม่ 2559 กันแล้ว หลายๆคนคงกำลังเดินทางท่องเที่ยว กลับบ้าน หรือเฉลิมฉลองเทศกาลกันอยู่

ส่วนผมถือโอกาสช่วงนี้ ไปไหว้พระขอพร ต้อนรับปีใหม่กันล่วงหน้าก่อนเลยพลุโอ่ง

สำหรับวัดในจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีวัดเยอะที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 1,500 วัดครับ
ถือว่าเยอะมากกกจริงๆ แต่ผมขอแค่ 9 วัดก็พอ เลขกำลังสวย โดยเป็นวัดในเขตอำเภอเมือง มีทั้งวัดเล็ก วัดใหญ่ คละกันไป
แต่ละวัดก็อยู่ห่างกันไม่ไกลเท่าไรนัก เดินทางง่ายสะดวก ไม่เสียเวลา เพราะช่วงเทศกาลรถติดมากครับ

พร้อมแล้วมาไหว้พระ ด้วยกันเลยครับ อมยิ้ม17



แผนที่เส้นทางไหว้พระ 9 วัด ในอำเภอเมือง โคราช

วัดสุทธจินดา - วัดหนองบัวรอง - วัดแจ้งนอก - วัดป่าสาลวัน - วัดใหม่อัมพวัน - วัดกองพระทราย - วัดสวนพริกไทย - วัดหงษ์ - วัดศาลาลอย





1. วัดสุทธจินดา

วัดสุทธจินดาวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
เดิม ก่อนที่จะมาเป็นวัดสุทธจินดาในปัจจุบันมีวัดเก่าอยู่สองวัด คือ "วัดบรมจินดา" อยู่ทางส่วนใต้ และ "วัดสมบูรณ์จิ๋วสีมาราม" อยู่ทางส่วนเหนือ
เมื่อพ.ศ. 2458 ทางราชการได้ย้ายศาลากลางว่าการมณฑลนครราชสีมาจากกลางเมือง มาตั้งที่มุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
และในช่วงนั้น วัดบรมจินดาและวัดสมบูรณ์จิ๋ว กำลังอยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่รับกันกับศาลาว่าการที่สร้างขึ้น
ดังนั้นบรรดาข้าราชการ ทหาร พลเรือน คหบดี และพ่อค้า จึงเห็นว่า นครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองเอกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ควรมีวัดที่สง่างาม อยู่ใกล้ศาลาว่าการมณฑล โดยรวมวัดสมบูรณ์จิ๋ว กับวัดบรมจินดา ให้เป็นวัดเดียวกัน
และสมเด็จพระสังฆราชเจ้าประทานอนุญาต และได้ประทานนามวัดว่า " วัดสุทธจินดา "
และโปรดฯ ให้ยกวัดนี้เป็นพระอารามหลวง เมื่อพ.ศ. 2478



ด้านหน้าบริเวณทางเข้า มีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่





ถัดเข้าไปด้านในเป็นที่ตั้งของอาคารสองชั้น
ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของหลวงพ่อองค์ดำ ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธเจ้าองค์ดำ









บริเวณพระอุโบสถสีขาว ตั้งอยู่ด้านข้าง





2. วัดหนองบัวรอง

ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกถนนบัวรอง ตัดกับถนนจอมสุรางค์ยาตร์
วัดหนองบัวรอง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2299 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2506
โดยชาวบ้านหนองบัวรองและผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันก่อสร้างวัดขึ้น



เราตรงเข้าไปที่กุฎิสงฆ์ มีรูปปั้นหลวงพ่อโต พรหมรังสี อยู่ด้านหน้า



ภายในอาคาร บริเวณผนังและเพดาน มีภาพวาดซึ่ง บอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในชาติต่างๆ













พระอุโบสถของวัดหนองบัวรอง





3. วัดแจ้งนอก

ตั้ง อยู่บนถนนจอมสุรางค์ยาตร์  ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2441 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2512
เดิมชื่อว่า "วัดใหม่หัวบึง" ต่อมาวัดถูกเพลิงไหม้ ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันบูรณะขึ้นมาใหม่ และเรียกชื่อวัดว่า "วัดใหม่สัทธารวม"
ต่อมาวัดแจ้งใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ท้ายบึง ตรงข้ามกับวัดใหม่สัทธารวม ได้สถาปนาและตั้งชื่อใหม่ว่า วัดแจ้งใน
วัดใหม่ศรัทธารวมก็ได้เปลี่ยนชื่อวัดว่า "วัดแจ้งนอก" เพื่อให้คู่กับวัดแจ้งใน คือ เมื่อมีวัดในแล้วก็ต้องมีวัดนอก
เพื่อให้ประชาชนจำกันได้ง่ายขึ้น และก็เป็นที่นิยมเรียกกันว่า วัดแจ้งนอก และวัดแจ้งใน









4. วัดป่าสาลวัน

ตั้งอยู่บนถนนสืบศิริ ด้านหลังสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา



เมื่อเข้ามาภายในวัด บริเวณด้านหน้าใกล้ประตูวัด  มีหลวงพ่อทันใจ ให้ได้ไหว้สักการะ ขอพร



ถัดไปด้านใน เป็น พุทธอุทยานลานธรรม ซึ่งมี อนุสรณ์สถานบูรพาจารย์เจดีย์ ตั้งเด่นเป็นสง่า
มีลักษณะเป็นเจดีย์แห่งพระกัมมัฏฐาน บนยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอัฐิธาตุบูรพาจารย์ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ภายในมีรูปปั้นของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย, หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล,หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์พร สุมโน
สร้างขึ้นเพื่อเป็นปูชนียสถาน ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา เป็นเครื่องระลึกถึงคุณธรรม ความดีของหลวงพ่อพุธ  ฐานิโยและบูรพาจารย์







ดอกสาละภายในวัด ออกดอกอย่างสวยงาม





ถัดเข้ามาด้านใน มองเห็น ศาลาพระญาณวิศิษฏ์ฯ เป็นอาคารไม้ สองชั้น
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และรูปปั้นของหลวงพ่อพุธ











5. วัดใหม่อัมพวัน

ตั้งอยู่บริเวณสามแยกถนนมุขมนตรี ตัดกับถนนสืบศิริ





เมื่อเข้ามาด้านใน ก็จะต้องสะดุดตากับพระอุโบสถหลังเก่าอันสวยงามแปลกตา เดิมพระอุโบสถนั้น สร้างด้วยไม้
ต่อมาได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เมี่อปี พ.ศ. 2464 โดยก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 8 เมตรเสา 12 ต้น
มีบัวหัวเสา ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันไม่มีลวดลายประดับ หน้าต่าง 6 บาน ประตูด้านหน้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู
บันไดขึ้นด้านหน้า 2 ทาง ด้านหลัง 2 ทาง หลังคามุงด้วยกระเบื้องหน้าวัว
นอกจากนั้นยังมีศิลปกรรมลวดลายปั้นปูนประดับกรอบประตู
ผนังด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อพุธ รูปพญานาคและพรรณพฤกษาซุ้มหน้าต่าง ปั้นเป็นรูปพญาครุฑ
ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบลาว











ด้านหลังเป็นพระอุโบสถหลังใหม่  2 ชั้น ทำด้วยกระเบื้องเซรามิกทั้งหลัง สร้างแบบจตุรมุข มีมุข 4 มุข มีจั๋ว 4 ด้าน มียอดมณฑป
บริเวณบันไดทางขึ้น ตกแต่งด้วยพญานาคห้าเศียร  ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป และภาพวาดบนผนังโดยรอบ ดูสวยงามมากครับ















6. วัดกองพระทราย

ตั้งอยู่บนถนนมุขมนตรี ตั้งขึ่นเมื่อ พ.ศ. 2444  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2416 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2526



พระอุโบสถของวัดกองพระทราย



รูปปั้นพระสีวลี



ภายในอาคารวัด





7. วัดสวนพริกไทย

ตั้งอยู่บนถนนมุขมนตรี  วัดนี้ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2382 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498
เดิมชื่อวัดบ้านโคก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดสวนพริกไทย







8. วัดหงษ์ สวนหมาก

ตั้งอยู่บนถนนมุขมนตรี ภายในมีพระอุโบสถ และ องค์พระยืนประดิษฐานอยู่ใกล้ๆกัน
เราเข้าไปไหว้พระ และอัฐิธาตุของหลวงปู่สำราฐ ที่อาคารด้านใน
วัดนี้เป็นวัดที่ผูกพันกับครอบครัวเรามาก  จำได้ว่า แม่ก็มาไหว้พระในอุโบสถ เพื่อขอลูกชาย ที่นี่
ตอนซื้อรถใหม่ ก็เอารถมาให้หลวงปู่เจิมทุกครั้งไป









หลังจากไหว้พระ มาหลายวัด ท้องก็เริ่มร้อง ได้เวลามื้อเที่ยง พอดีครับ
เรามาทานกันที่ร้านปลาจุ่ม แถวๆ วัดศาลาลอย
ปลาจุ่ม ราคาชุดละประมาณ 220 บาท ส่วนเมนูอื่นๆ จานละประมาณ 200 บาท
รสชาติอร่อยใช้ได้ครับ ใครผ่านมาแถวนี้ก็ลองแวะมาชิมกัน













9. วัดศาลาลอย

ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 224 หากมาจากกรุงเทพ ทางถนนมิตรภาพ ผ่านสามแยกไปขอนแก่น ให้ตรงมาเรื่อยๆ ทางเข้าจะอยู่ตรงทางโค้งพอดี
วัดศาลาลอย แห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2370  เมื่อครั้งท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม เสร็จศึกสงครามจากทุ่งสัมฤทธิ์
ขณะยกทัพกลับเมืองนครราชสีมา ได้แวะพักบริเวณท่าตะโก และได้สั่งให้ทหารทำแพเป็นรูปศาลาเสี่ยงทายลอยไปตามลำตะคอง
พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแพรูปศาลานี้ ลอยไปติดอยู่ ณ ที่แห่งใด จะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์
ซึ่งแพได้ลอยไปติดอยู่ริมฝั่งขวาของลำตะคอง ซึ่งเป็นวัดร้าง จึงได้สร้างพระอุโบสถ เป็นวัดศาลาลอยในปัจจุบัน



จุดเด่นของวัดนี้ อยู่ที่อุโบสถหลังใหม่ที่ได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม
และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป
ใช้วัสดุพื้นเมืองคือกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนนำมาประดับตกแต่ง
เช่น ผนังด้านหน้าอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพตอนพระเจ้าเปิดโลก
ส่วนบานประตูเป็นโลหะลายนูน ภาพเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก (13 กัณฑ์)





ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาว ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนคร
พระนามว่า " พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์ "





หน้าประตูอุโบสถมีปูนปั้นรูปท้าวสุรนารีนั่งพนมมือกลางสระน้ำ
ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม
ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี



ด้านในอาคารก่ออิฐ มีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ขอพร ส่วนด้านนอกก็มีของที่ระลึกต่างๆ ให้สักการะบูชา







อีกด้านหนึ่งเป็นที่ตั่งของรูปปั้นและเจดีย์บรรจุอัฐิย่าโม ซึ่งผู้คนนิยมบนบานขอพรย่าโมให้ปกป้องคุ้มครอง
โดยเฉพาะในเรื่องของความรักและคู่ครอง   เพราะเชื่อว่าย่าโม จะดลบันดาลให้สมหวังได้
และหากพรที่ขอสำเร็จดังใจอธิษฐานแล้ว  ก็มักจะแก้บนด้วยเพลงโคราช เพราะเชื่อว่า ย่าโมนั้นชอบฟังเพลงโคราชนั่นเอง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น